แม้จะยังไม่เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แต่ประเทศไทยได้เปิดเสรีให้นำเข้าสินค้าเกษตร 23 รายการ จากกลุ่มประเทศอาเซียนเป็น 0% ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้าซึ่ง “กาแฟ” เป็นหนึ่งในนั้น การนำเข้ากาแฟมี 2 รูปแบบคือ นำเข้าแบบสำเร็จรูป อาทิ กาแฟผง กาแฟกระป๋อง กับ นำเข้าเมล็ดกาแฟ โดยเมล็ดกาแฟจัดเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง เนื่องจากเกษตรกรไทยยังแข่งขันลำบาก จึงกำหนดกรอบการนำเข้ากาแฟจากอาเซียนใน 2 ลักษณะ คือ หากนำเข้ากาแฟสำเร็จรูปสามารถนำเข้าได้ในอัตราภาษี 0% แต่ถ้านำเข้าเป็นเมล็ดกาแฟต้องเสียภาษี ตามปกติ 5%
ต้องยอมรับว่าในอาเซียน “เวียดนาม” เป็นหนึ่งด้านพื้นที่การปลูกกาแฟ เป็นผู้ค้ารายใหญ่ติด 1 ใน 3 ของ โลกรองจากบราซิล และโคลัมเบีย จึงมีต้นทุนในการผลิต ที่ต่ำกว่าไทยมาก หากปล่อยให้นำเข้าเมล็ดกาแฟ จากเวียดนามเป็น 0% โรงงานคงหันไปนำเข้าเมล็ดกาแฟจากเวียดนามแทนการซื้อจากเกษตรกรไทย แม้กาแฟเวียดนามจะมีคุณภาพและมาตรฐานต่ำกว่ากาแฟไทย
อย่างไรก็ตาม การผลิตเมล็ดกาแฟของไทยก็ยังไม่ เพียงพอต่อการบริโภค ยกตัวอย่างในปี 2552 ประเทศไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้ประมาณ 56,315 ตัน แต่ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟเพื่อบริโภคภายในประเทศมีประมาณ 68,000 ตัน ดังนั้น จึงต้องมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศ ซึ่งปริมาณการนำเข้าไม่สูงนัก เนื่อง จากจะต้องเสียภาษีนำเข้า และผู้ที่นำเข้าจะต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการเท่านั้น แต่เมื่อถึงปี 2558 สถานการณ์จะเปลี่ยนไป ไทยต้องเปิดเสรีนำเข้าเมล็ดกาแฟจากอาเซียน โดยไม่มีภาษีนำเข้า เช่นเดียวกับกาแฟสำเร็จรูป
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสถาบัน วิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การเข้าสู่เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2553 นั้น ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวข้องกับสินค้ากาแฟที่ต้องลดภาษีการนำเข้าเป็น 0% ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งยังมีกรอบความร่วมมือกลุ่มประเทศอาเซียน +3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) และ อาเซียน+6 (จีน เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย) ซึ่งเป็นผลให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่ผ่านมา เขตการค้าเสรีอาเซียนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟของไทยยังไม่ได้รับ ผลกระทบมากนัก เนื่องจากประเทศไทยจัดให้กาแฟเป็นสินค้าอยู่ในประเภทอ่อนไหว พร้อมทั้งมีมาตรการปกป้อง ภาคการผลิตกาแฟภายในประเทศ อีกทั้งยังได้มีเงื่อนไขการนำเข้ากาแฟหลายประการ แต่อีก 2 ปี การเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือAEC กาแฟไทยจะเข้า สู่การแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้กาแฟไทยจะขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพเป็นหนึ่งในอาเซียน แต่คู่แข่งที่สำคัญก็มีการพัฒนาคุณภาพของเมล็ดกาแฟด้วยเช่นกัน เกษตรกรไทยจึงต้องไหวตัว หาความรู้ในการพัฒนาการเพาะปลูก รวมถึงแสวงหาช่องทางการส่งออกไปขายในอาเซียน แทนที่จะขายให้กับโรงงานในเมืองไทยเพียงอย่างเดียว
ในขณะที่ตลาดผู้บริโภค ปัจจุบันคนไทยมีอัตราการดื่มกาแฟประมาณ 200 แก้วต่อปี จาก 50 แก้วต่อปี เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าการเปิดเสรีการนำเข้ากาแฟในปี 2558 จะทำให้ผู้บริโภคในประเทศมีทางเลือกในการเลือกซื้อกาแฟสำเร็จรูปบริโภคมาก ขึ้น และดื่มกาแฟมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกาแฟสำเร็จรูปที่ผลิตในประเทศหรือกาแฟสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจาก ต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้บริโภค ที่เน้นปัจจัยทางด้านราคาเป็นสำคัญ จะมีทางเลือกที่หลากหลายจากกาแฟนำเข้าจากประเทศ เพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่า
ที่มา : สยามธุรกิจ